17/4/52

ข่าวประชาสัมพันธ์ พิธีแต่งงานแบบหลวงพระบาง







































ข่าวประชาสัมพันธ์ พิธีแต่งงานแบบหลวงพระบาง


หลวงพระบาง เมืองแห่งราชธานีในอดีตที่มีเอกลักษณ์ รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คน เจ้านายก็มีปรากฎให้เห็นจากภาพถ่าย สะท้อนและบ่งบอกถึงคุณค่าที่ใหญ่หลวงของอดีตที่ผ่านมา ราชพิธีหรือพิธีการของเชื้อพระวงศ์ที่จัดขึ้นล้วนเป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจในระดับประเทศของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราชพิธีอภิเษกสมรสของเชื้อพระวงศ์ที่ผ่านการถ่ายทอดทางภาพยนต์สารคดีหรือตีพิมพ์เผยแพร่เรื่องราวของราชวงศ์ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนทำให้ได้เห็นพิธีการต่าง ๆ ในพระราชวัง ซึ่งอันที่จริงแล้ว งานพระราชพิธีอภิเษกสมรสก็คืองานแต่งงานของชาวลาวทั่วไป เพียงแต่ว่ามีความหรูหราวิจิตรพิศดารมากกว่าเท่านั้นเอง หรือเป็นแบบฉบับที่ใคร ๆ ก็อยากจะได้มีโอกาสแต่งงานแบบนั้นบ้างภายหลังมีการปฏิวัติ ราชพิธีของเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายได้ถูกห้ามปฏิบัติ กิจกรรมต่างๆ ไม่สามารถทำได้เต็มที่ และภายหลังจากที่มีการล้มสลายทั่วโลกของลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นต้นมา นับแต่ทศวรรษ 1990 ก็เลยได้มีการรื้อฟื้นพิธีการและกิจกรรมปฏิบัติแบบดั้งเดิมขึ้นมาใหม่ ราชพิธีหรือพิธีการของเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายที่จัดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการส่วนตัวหรือในรูปแบบของงานที่ระลึก ซึ่งก็ได้ถูกดำเนินการในหลวงพระบางเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่นั้นมา

ผู้เขียน สุทธิพงษ์ สุริยะ ได้มีโอกาสไปร่วมงานแต่งงานที่หลวงพระบางซึ่งเจ้าสาวก็คือลูกสาวของ เอื้อยวันดารา อำไพพอน ผู้ซึ่งเคยสอนทำอาหารราชสำนักหลวงพระบางให้กับผู้เขียนและร่วมออกหนังสือตำราอาหาร Food and Travel : ลาว ด้วยกัน ซึ่งหนังสือเล่มนี้ถูกส่งเข้างานประกวดตำราอาหารโลก และถูกคัดเลือกเป็นตำราอาหารดีเด่น 1 ใน 26 เล่มของโลก เมื่อปี 2007 จาก Gourmand World Cookbook ประเทศสเปนมาแล้ว หลาวสาว ขวัญสุดา อำไพพอน ที่จะเข้าสู่พิธีสมรสใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่เวียงจันทน์ เพราะเรียนด้านการแพทย์ ปัจจุบันทำงานเป็นแพทย์ประจำคลีนิค ที่สถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศลาว และได้พบเจอเจ้าบ่าว ซึ่งเป็นคนเวียงจันทน์ เพ็ชรสมพอน พงไพประดิษฐ์ ปัจจุบันรับราชการอยู่แขวงพงสาลี ทางตอนเหนือของลาว การจัดงานครั้งนี้ทางครอบครัวทั้งสองฝ่าย เห็นดีเห็นงามกับการจัดงานแต่งงานที่หลวงพระบางบ้านเกิดของเจ้าสาว ซึ่งวันเวลาของการจัดงานแต่งงาน ก็จะมีทั้งพิธีหมั้น ซึ่งก็ต้องดูวันเวลาตกฟากของทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวตามปฏิทินลาว ซึ่งในวันหมั้น เจ้าบ่าวก็จะนำขันหมากไปยังบ้านเจ้าสาวเพื่อสู่ขอ ในขันหมากก็จะประกอบไปด้วย ทองคำ เงินรูปพรรณ เงินตราสกุลต่างๆ และสิ่งของอันมีค่าตามที่พ่อแม่เจ้าสาวเรียกร้อง และวันนั้นก็จะมีพ่อ แม่ ญาติสนิทและเพื่อนฝูงของทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวมาพร้อมหน้าเพื่อเป็นสักขีพยาน ในการเตรียมงานสำหรับพิธีแต่ง ก็จะเริ่มต้นด้วยคนเฒ่าคนแก่ เตรียมธูป เทียน พานพุ่มดอกไม้ทำจากใบตองเป็นชุดบายศรี ส่วนคนหนุ่มก็ตระเตรียมสถานที่ สาว ๆ ก็จะเข้าครัวดูแลเรื่องอาหารการกิน บรรยากาศเหมือนงานบุญที่ล้วนต่างก็มาช่วยกัน อาหารก็จะประกอบไปด้วยอาทิลาบ คำพ้องเสียงกับ ลาภ ซึ่งหมายถึงความโชคดีมีโชคลาภนั่นเอง ปาเต้ตับหมูบดทานกับขนมปังสูตรของคนเก่าแก่ ฯลฯ  รุ่งเช้าสำหรับวันแต่งงาน เจ้าสาวก็จะต้องตื่นแต่เช้ามืด เพื่อแต่งตัวตามประเพณีลาวและเกล้าผมประดับสายสร้อยแบบโบราณ ส่วนชุดก็จะเป็นไหมสีทองปักดิ้น พร้อมสวมกำไลทอง ซึ่งทองคำของลาวจะสีออกแดง(ทองคำของไทยจะสีออกเหลือง) ก่อนเจ้าบ่าวจะเดินทางมาถึง เจ้าสาวก็จะทำการคารวะเคารพพ่อ แม่และครอบครัวของตนตามพิธี ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูมา อีกทั้งยังมีพิธีการมอบของมีค่าเช่น ทองคำให้กับพี่สาวอันเป็นการขอขมาที่ตนต้องแต่งงานก่อนพี่ ๆ ซึ่งตามประเพณีลาวนั้นพี่คนโตพึงต้องแต่งงานก่อนน้อง ๆ (พี่สาวซึ่งได้อพยพไปอยู่ออสเตรเลียตั้งแต่เล็ก ๆ ก็ได้กลับมาร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย เพราะปี 2010 ก็ต้องแต่งงานที่นั่น) และเมื่อได้ฤกษ์ดี เวลาอันเป็นมงคลประมาณ 9 นาฬิกา ขบวนแห่ก็เริ่มขึ้นทางคณะเจ้าบ่าวเดินทางมาบ้านเจ้าสาว ซึ่งเจ้าบ่าวก็จะพกดาบ เงิน ถุงแพร รวมทั้งดอกไม้และธูปเทียน และมีเพื่อนเจ้าบ่าวซึ่งเป็นคนโสด ทำหน้าที่ถือร่มกางให้แก่เจ้าบ่าว เพื่อนญาติสนิทก็จะร้องรำทำเพลงพื้นเมืองตลอดเวลาแห่ขบวน เมื่อถึงบ้านเจ้าสาว ก็จะมีญาติผู้ใหญ่เพื่อนเจ้าสาว ใช้เข็มขัดทองกั้นไม่ให้เข้าประตู เจ้าบ่าวต้องทำหน้าที่เจรจากับผู้เฝ้าทางเข้า เพื่อปล่อยให้ตนเข้าไปในบ้านเจ้าสาว การเจรจาต่อรองมีการแจกซองใส่เงินให้แก่คนเฝ้าประตูและพยายามผ่านเข็มขัดทองที่ขวางอยู่นั้น ซึ่งในพิธีแต่งงานแบบลาวขบวนแห่ของเจ้าบ่าว จะเป็นส่วนที่สนุกสนานที่สุดของงาน เมื่อฝ่าด่านเข้าไปแล้วก็จะต้องถอดรองเท้าเพื่อล้างเท้าด้วยดอกไม้หอมซึ่งจัดให้โดยญาติที่อายุน้อยสุดของเจ้าสาว(ส่วนมากจะเป็นเด็ก ๆ ) ก่อนจะก้าวเข้าสู่เรือนเจ้าสาว ณ จุดนี้เจ้าบ่าวจะแจกซองใส่เงินให้แก่ผู้ล้างเท้า เมื่อพิธีล้างเท้าเสร็จญาติผู้ใหญ่ของเจ้าสาวผู้ซึ่งได้ครองเรือนมายาวนานจะนำไปยังห้องโถงเพื่อทำพิธีบายศรี และพร้อมหน้ากับเจ้าสาวที่นั่น โดยหมอพร จะเริ่มพิธีบทสวดที่มีความหมายสอนให้คู่บ่าวสาวดำเนินชีวิตสมรสที่ปรองดองและเป็นสุข รวมทั้งเป็นการให้พรแก่คู่บ่าวสาวด้วย 

              ซึ่งในพิธีคู่บ่าวสาวจะต้องกินไข่ แขกทุกคนได้เห็นต่างก็มองและอมยิ้มกันโดยถ้วนหน้า พิธีบายศรีใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที เสร็จแล้วพ่อแม่และญาติทั้งหลายของคู่บ่าวสาวจะผูกข้อมือให้ด้วยด้ายสีขาว ซึ่งพิธีในครั้งนี้ เจ้าหญิงมะนีไล สว่าง ก็ได้มาร่วมพิธีเพื่อให้พรกับลูกหลานด้วย(หลังเสร็จพิธีผู้เขียนได้ตามไปเยี่ยมเจ้าหญิงที่บ้าน เหมือนเช่นทุก ๆ ครั้งที่ได้มาเที่ยวหลวงพระบาง) เมื่อได้เวลาอันสมควร ญาติผู้ใหญ่ในพิธีบายศรีจะพาส่งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเข้าหอ ซึ่งหอหรือห้องนอนนั้น ถูกจัดขึ้นโดยพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ซึ่งมีชีวิตคู่ที่ราบรื่น ทำการจัดแต่งผ้าปูที่นอน มีการนำบายศรีไปให้คู่บ่าวสาวถึงห้องนอน ในห้องนอนนั้น พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่จะให้พรและคำสอนในการดำรงชีวิตคู่ให้มีความสุขและรุ่งเรือง ก่อนที่จะถอยตัวออกมาเพื่อเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่แขกที่มาร่วมงาน ซึ่งในภาคเช้าของงานพิธีก็จะมีแต่ญาติสนิทของเจ้าบ่าวเจ้าสาวเท่านั้น โดยทำกันเป็นเวลานานตามประเพณี ในตอนค่ำก็จะมีงานเลี้ยงสังสรรค์เพื่อนฝูง และคนที่รู้จักกับคู่บ่าวสาว และในช่วงบ่ายวันเดียวกันนั้น ผู้เขียนต้องทำหน้าที่สำคัญ ซึ่งจริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ก็ต้องตระเวนจัดหาอุปกรณ์มาใช้เพื่อตกแต่งรูปแบบงานอย่างที่ต้องการ ซึ่งข้าวของที่หลวงพระบางก็ไม่ค่อยจะมีให้เลือกเช่น แจกัน ดอกไม้ ฯลฯ โรงแรมแกรนด์หลวงพระบางคือสถานที่จัดงาน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ในอดีตสถานที่แห่งนี้เคยเป็นวังเก่าของเจ้าเพ็ชรรัตน์มาก่อน ท่านเคยมีภรรยาเป็นคนไทย ตระกูลของหลานสาวนี้ก็เป็นเครือญาติราชวงศ์ของท่าน ก่อนเตรียมงานทางญาติผู้ใหญ่ก็ต้องเดินทางมากราบสักการะขอพรเพื่อคุ้มครองลูกหลานและนับเป็นความกรุณาอันสูงส่งที่ทางโรงแรมอนุญาติให้ใช้เป็นสถานที่สำหรับจัดงานแต่งงานในบริเวณที่โล่งกลางแจ้งกลางสนามหญ้า ซึ่งถือเป็นการจัดงานแต่งของคู่บ่าวสาวคนลาวครั้งแรก ณ สถานที่แห่งนี้ รูปแบบการจัดตกแต่งสถานที่ของผู้เขียน  ก็เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในหลวงพระบางและในประเทศลาว จากการดูรูปภาพของคนจัดอีเว้นท์ที่มานำเสนอหรือจากการบอกเล่าความรู้สึกของผู้คนที่ไม่เคยเห็นและตื่นตาตื่นใจไปกับชั้นไม้สีขาว มีแจกันและโถหลากหลายรูปแบบใส่ดอกไม้วางบนชั้น ดูเหมือนงานดิสเพลย์ ซึ่งไอเดียนี้ผู้เขียนอยากนำเสนอความสวยงามที่มาจากธรรมชาติจริง ๆ แค่เพียงจัดดอกไม้สักช่อใส่ลงแจกันก็สวยได้แล้วไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมาก ซึ่งเมืองหลวงพระบางก็ให้อารมณ์แบบนั้นจริงๆ และตามต้นจำปา(ลั่นทม) ก็จะนำดาวกระดาษสา งานหัตถกรรมของชาวบ้านมาแขวนประดับ ให้ความรู้สึกมีดวงดาวเปล่งประกายในค่ำคืนนี้ และที่พลาดไม่ได้ความสนุกสนานที่คนลาวจะมีอยู่ในสายเลือดนั่นก็คือ การรำวง และเต้นประกอบเพลงจังหวะ “บัดสโลบ” และ “สาระวันเตี้ยลง”  สร้างความครื้นเครงเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่น่าทึ่งคือ พิธีกรและนักร้องของงานกับไม่ใช่คนหนุ่มสาว แต่เป็นลุง ๆ ป้า 3 คน อายุรวมกันร่วม 200 ปี ซึ่งทั้งดำเนินรายการและขับร้องเพลงรักเป็นภาษาฝรั่งเศส จนแขกที่มาพักส่วนมากจะเป็นคนฝรั่งเศสซึ่งโดยมากจะมีอายุแล้ว ได้ยินจากห้องพักจนต้องลงมาดูและฟังด้วยตนเองและเข้ามาพูดคุย เพลงเก่า ๆ เหล่านี้ไม่สามารถหาฟังได้แล้วในยุคปัจจุบัน งานในค่ำคืนนี้ เปิดฟลอเต้นรำด้วยคู่บ่าวสาวก่อนตามด้วย เจ้าบ่าวเต้นรำกับครอบครัวของเจ้าสาว ส่วนเจ้าสาวก็เต้นรำกับครอบครัวของเจ้าบ่าว ตามด้วยแขกที่ให้เกียรติมาร่วมงานมากมาย อาทิ  ท่านนางอุมมะลี  ดวงพะจัน  ภรรยาผู้ว่าแขวงหลวงพระบาง,  ท้าวดวง  มะนีจัน  รองผู้ว่าแขวงพงสาลี,  ท้าวคำแพง  ไซสมแพง รองผู้ว่าแขวงหลวงพระบาง และเพื่อนรักของผู้เขียน ยานิค อุพาวัน เจ้าของร้านอาหารฝรั่งเศส Le elephant  

งานในค่ำคืนนี้ผู้เขียนได้รับคำชมมากมาย แม้แต่ผู้จัดการของโรงแรมแกรนด์ หลวงพระบาง ที่บอกว่าเป็นครั้งแรกที่ให้สถานที่สำหรับจัดงานแบบนี้ ได้สร้างความประทับใจเป็นอย่างมาก แม้แต่แขกของโรงแรมต่างพากันมาชื่นชมดูบรรยากาศพิธีงานแต่งแบบหลวงพระบาง ที่งดงามทรงคุณค่าและกินใจกับประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ผู้เขียนสัมผัสได้และจะจดจำไปตราบนานแสนนาน  




- กลับสู่หน้าหลัก -